จังหวัดอ่างทองเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ภาคกลาง ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม
และเต็มไปด้วยวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความสวยงามน่าสนใจมากมายกว่าถึงกว่า 200 วัด เราจะพาคุณไปไหว้พระ 9 วัด ที่จังหวัดอ่างทอง
1.วัดอ่างทองวรวิหาร
วัดอ่างทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็กๆ 2 วัด ชื่อ วัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2443 และพระราชทานนามว่า วัดอ่างทอง วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงาม มีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีและหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ที่ตั้ง : ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง อ่างทอง 14000
2.วัดม่วง
เดิมทีวัดม่วงเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2230 แขวงเมืองวิเศษชาญ ซึ่งเคยได้เป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า พม่าได้เผาผลาญบ้านเมือง วัดวาอาราม และพระพุทธรูปไปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่หลงเหลืออยู่ คือ ซากปรักหักพังของวัดวาอาราม และพระพุทธรูป ที่อยู่บนเนินมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก
ที่ตั้ง : ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ อ่างทอง
3.วัดไชโยวรวิหาร
“พระมหาพุทธพิมพ์” หรือ “หลวงพ่อโต” แห่งวัดไชโยนี้ เป็นที่ประจักษ์กันดีในหมู่ชาวเมืองอ่างทองที่เคารพนับถือ กล่าวกันว่า ผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มาก จะไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตได้ เนื่องจากเมื่อเข้าใกล้องค์พระ จะเห็นว่าหลวงพ่อโตกำลังจะล้มลงมาทับ
ที่ตั้ง : ตำบลไชโย อำเภอไชโย อ่างทอง
4.วัดป่าโมกวรวิหาร
ภายในวัดมีพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ พงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชา ได้เสด็จมาชุมนุมพล และถวายสักการบูชาพระพุทธไสยาสน์องค์นี้
ที่ตั้ง : ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก อ่างทอง
5.วัดบ้านพราน
ในระหว่างปี 1862 – 1870 ช่วงปลายกรุงสุโขทัย ผู้ที่สร้างวัดบ้านพรานชื่อ นายพาน นางเงิน สองสามีภรรยา และนายกระปุกทอง ผู้เป็นบุตร หลังจากนั้นวัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างไปจนต้นไม้ปกคลุมหนาทึบเป็นเวลา 100 กว่าปี ต่อมาพวกนายพรานได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงช่วยกันบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ ในปัจจุบันวิหารตกแต่งด้วยเบญจรงค์ทั้งหลัง
ที่ตั้ง : บ้านพราน หมู่ 1 ตำบลศรีพราน อำเภอแสวงหา อ่างทอง
6.วัดท่าสุทธาวาส
ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปประธาน เป็นหินทรายปั้นปูนปิดทองทับ พระประธานองค์นี้ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อยิ้ม” เพราะมีพุทธลักษณะคล้ายพระกำลังอมยิ้ม เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ บริเวณรอบวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย ด้วยนโยบายของพระครูสุทธิสารนันท์ เจ้าอาวาสวัดท่าสุทธาวาส ว่านอกจากจะให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเข้ามาศึกษาธรรมของคนแล้ว ก็ควรจะมีป่าให้นกและสัตว์ต่างๆ ได้อาศัยหากินด้วย
ที่ตั้ง : บ้านบางเสด็จ หมู่ 2 ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก อ่างทอง
7.วัดต้นสน
วัดต้นสน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2485 อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ. 2310 วัดนี้ตามสันนิษฐานสร้างเมื่อตอนปลาย สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้ทรุดโทรมมาจนเกือบจะกลายสภาพเป็นวัดร้าง เพราะไม่มีปูชณียวัตถุแต่อย่างใด ต่อมาพุทธศักราช 2488 พระราชสุวรรณโมลี ได้ริเริ่มการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆขึ้น ต่อมาก็ได้ขอซื้อที่ดินขยายที่ตั้งวัดออกมาเรื่อยๆ ขอซื้อหลายครั้งจนปัจจุบันมีเนื้อที่วัดเพิ่มขึ้นมากจากในอดีต
ที่ตั้ง : บ้านต้นสน ถนนเทศบาล 2 ตำบลตลาดหลวง อำเภอเมือง อ่างทอง
8.วัดจันทรังษี
วัดจันทรังษี มีพื้นที่สองฝั่งถนน ฝั่งทิศตะวันออกมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อโยก” และฝั่งตะวันตกของถนนเป็นที่ตั้งของพระมหาวิหารจัตุรมุขพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) องค์ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างด้วยโลหะปิดทองคำเหลืองอร่ามทั้งองค์มีความงดงามมาก เริ่มสร้างเมื่อปี 2539 สร้างโดยพระธรรมรัตนากร นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างองค์สมมุติพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวรเจ้าแม่กวนอิม ปางพันมือ สี่หน้า แกะสลักจากไม้หอมขนาดใหญ่จากประเทศจีนโดยได้อัญเชิญเข้ามาประเทศไทยประดิษฐาน ณ วัดจันทรังสี
ที่ตั้ง : บ้านนา หมู่ 9 ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง อ่างทอง
9.วัดขุนอินทประมูล
ขุนอินทประมูลตั้งอยู่ในเขตตำบลอินทประมูล เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อยๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา
ที่ตั้ง : ตำบลอินทรประมูล อำเภอโพธิ์ทอง อ่างทอง
สนับสนุนเนื้อหา