ตั้งแต่ บึงกาฬ เปลี่ยนสถานะเป็นจังหวัดน้องคนสุดท้องของไทย ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปเยือนอีกเลย ไม่รู้ว่าป่านนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง…
จาก บึงกาฬ อำเภอเล็กอำเภอหนึ่งสุดเขตสยามฝั่งอีสาน ที่น้อยคนจะรู้จักกลายมาเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทย เห็นทีว่าคราวนี้ จะไม่พาไปเยือนก็คงไม่ได้ สำหรับผมแล้วบึงกาฬ เป็นเมืองเปิดใหม่ที่น่าหลงไหล เป็นเมืองเล็กๆ ของเมืองไทยที่น่าจดจำ และผมคิดว่าบึงกาฬ คือเมือง 3 ธรรม ที่มีทั้งธรรมะ และธรรมชาติศิลปวัฒธรรม
ครั้งหนึ่ง…ที่ เที่ยวบึงกาฬ ความงดงามของเส้นทาง 3 ธรรม
เส้นทางที่ 1 ภูทอกแหล่งพระธรรมอันลือเลื่อง
ใครที่มาบึงกาฬ แล้วไม่มาแวะชมความงามของภูทอก นี่ถือว่าพลาด
สถานที่อันแสนเงียบสงบ “วัดภูทอก” หรือ “วัดเจติยาคีรีวิหาร” นี้คือ สถานที่ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงาม ที่แวดล้อมอยู่แฝงไว้ซึ่งเสน่ห์ทางธรรม
ทางหลวงหมายเลข 222 ไปทางอำเภอศรีวิไล มีป้ายบอกทางเป็นระยะอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 50กิโลฯวัดภูทอก อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล ภูทอกมี 2 ลูก คือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้ คือ ภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไปยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวชม
สะพานไม้ และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบๆ ภูทอก แบบ 360 คือ มนต์เสน่ห์แห่งดินแดนธรรมอันเงียบสงบแห่งนี้ ที่สะกดให้นักท่องเที่ยวหลงใหลในความงดงาม
ภูทอก มีทั้งหมด 7 ชั้นจากชั้น 1 – ชั้นที่ 7 จะมีบันไดไม้ให้เดินแบบตรงทอดยาวจนถึงจุดสูงสุดของยอดภูทอก และตั้งแต่ชั้นที่ 3 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมแบบสะพานเวียนรอบเขา ซึ่งจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างไปเรื่อยๆ ในแต่ละย่างก้าวในชั้นที่ 5 ถือว่าเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด จะมีศาลาขนาดใหญ่พระพุทธรูปกุฏิพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนด้วย
ตลอดตามช่องทางเดิน จะมีถ้ำอยู่หลายจุด เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้วถ้ำฤาษี ฯลฯ มีที่ให้นั่งพักระหว่างทางเดินเป็นระยะ
ถ้าเดินมาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีลักษณะคล้ายๆ กับพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า คือ เป็นหินแยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่แต่ไม่ตกลงมา
ในเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 จะเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดตลอดทางเดิน จะเป็นหน้าผายื่นออกมา ทำให้ในบางครั้งเวลาเดินต้องเบี่ยงตัวออกมาเล็กน้อย โดยแต่ละจุดก็จะมีชื่อของหน้าผาที่แตกต่างกัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ในช่วงฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกลอยอยู่รอบๆ ยอดเขาทำให้เหมือนอยู่บนสวรรค์
เส้นทางที่ 2 ถ้ำพระ–แก่งอาฮงแหล่งมหัศจรรย์ธรรมชาติ
มาบึงกาฬ ไม่มาชมความอัศจรรย์ของ 2 แหล่งธรรมชาติอย่าง น้ำตกถ้ำพระ และแก่งอาฮง คงไม่ได้แห่งหนึ่ง คือ ธรรมชาติอันสวยงาม และสดชื่นส่วนอีกแห่งหนึ่ง คือ ธรรมชาติที่น่าตื่นตา
สำหรับน้ำตกถ้ำพระ หรือชื่อเต็มว่า น้ำตกถ้ำพระภูวัว อยู่ระหว่างรอยต่อของอำเภอเซกา กับอำเภอบึงโขงหลง
ขอบอกว่าน้ำตกที่นี่สวยมาก น้ำที่ไหลมาตามชั้นหินสีเทาสลับน้ำตาล ที่ลดหลั่นกันไปลงมาสู่บริเวณลานกว้าง และมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ยังคงอยู่
น้ำตกถ้ำพระแห่งนี้จะมี 3 ชั้น จากการสอบถามพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ นิยมที่จะเล่นน้ำ ณ บริเวณชั้นที่2 เพราะจะมีลานกว้างแมกไม้ดอกไม้ป่านานาพันธุ์ผลิดอกออกช่ออย่างสวยสดงดงาม…
สำหรับการเดินทาง ก็ตรงดิ่งสู่อำเภอเซกามุ่งหน้าสู่น้ำตกถ้ำพระประมาณ 34 กิโลเมตร สำหรับการเดินทางขอให้สนุกแบบเงียบๆ เพราะเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ เมื่อเดินขึ้นมาบนลานหินด้านหลัง จะพบหุบเขารูปแอ่งกระทะขนาดกว้างประมาณ 200 ตารางเมตร มีสายธารน้ำตกไหลมายังก้นอ่างที่เบื้องล่าง บริเวณน้ำตกเป็นผากว้างราว 100 เมตร สูง 50 เมตร
อีกหนึ่งธรรมชาติที่แสนมหัศจรรย์นั่นคือ แก่งอาฮง แหล่งน้ำที่น้ำจะไหลเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลาก และมีกระแสน้ำไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่
ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น “สะดือแม่น้ำโขง” โดยนอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อน และสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอบึงกาฬ และเป็นสถานที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติคือ ”บั้งไฟพญานาค” ในช่วงประเพณีออกพรรษา.. นี่แหละหนาธรรมชาติอันแสนมหัศจรรย์ของบึงกาฬ
เส้นทางที่ 3 ศิลปะและวัฒนธรรม2 เชื้อชาติ
บึงกาฬ อยู่ในดินแดนอีสานติดฝั่งโขง และยังเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับประเทศลาวด้วย เพราะฉะนั้นแน่นอนเลยว่ามาบึงกาฬทั้งที เราก็จะมีโอกาสได้พบปะเรียนรู้กับวัฒนธรรมของ 2 ชาติไทย–ลาว ที่แสนงดงามและน่าหลงใหล
ตลาดนัดไทย–ลาวสองฝั่งโขงคือ แหล่งที่เราจะเห็นวัฒนธรรมไทย–ลาวได้ ที่นี่ตลาดจะตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบแม่น้ำโขงมีต้นก้ามปูต้นใหญ่มากๆ เป็นจุดเริ่มต้น
ในทุกเช้าวันอังคาร และวันศุกร์ จะมีพ่อค้า–แม่ค้าชาวลาว ข้ามแม่น้ำโขงเอาของมาขายร่วมกับพ่อค้า–แม่ค้าไทย
และนี่คือสีสันความสนุกและความแปลกตาได้ไม่น้อย เพราะมีของป่าของหายากจากฝั่งลาว ที่บางครั้งเราไม่เคยเห็นมาก่อนมาวางขายมากมาย อย่างเช่น จิ้งจกเก้าหาง ไว้ทำเครื่องรางของขลังให้หนุ่มรักสาวหลง พืชและว่านสมุนไพรต่างๆ อาหารสดพวกปลาปูกุ้งกบเขียด ก็มีให้เห็นอยู่หลายร้าน ใส่กันมาเป็นเข่งมีผักผลไม้สดๆ หลายชนิดทั้งผักกระเฉดลำต้นอวบๆ ฝักแฝง มะละกอ หน่อไม้ ทุเรียน ลำไย หรือของบางอย่างที่ชื่อไม่คุ้นหู แต่น่ารับประทานก็มีมาก อาหารพื้นเมือง เช่น ปอเปี๊ยะเวียดนาม, ต้มเส้น(ก๋วยเตี๋ยวน้ำเส้นกลมแบบเวียดนาม )ข้าวจี่, ขนมปังฝรั่งเศสสูตรลาวก็มี มีผ้าซิ่น ผ้าไหม เสื้อผ้า ของใช้วางขายหลายหลาก ตามสไตล์ตลาดนัด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 7 โมงเช้าจนถึง 11 โมง
และถ้าเลยตลาดลงมาทางใต้ จะเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ชื่อ “บึงกาฬ” ซึ่งเป็นที่มาของจังหวัดนี้ ก็มีวิวยามพระอาทิตย์ตกดินให้ได้แวะชม หรือถ้าใครอยากเดินทางข้ามไปยังฝั่งลาว ก็สามารถทำได้โดยไปนั่งเรือข้ามฟากที่ “ด่านศุลกากรบึงกาฬ” หรือจุดผ่านแดนบึงกาฬ–ปากซัน
ฝากเส้นทาง 3 ธรรม ของบึงกาฬ นี้ไว้ในอ้อมใจของนักเดินทางทั้งหลายด้วย บางทีคุณอาจจะหลงรักเมืองเล็กๆ เมืองนี้ได้ในบัดดลที่เดินทางมาเยือน
บทความน่าอ่านจาก http://www.emaginfo.com ร่วมกับ travel.mthai.com
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : kapook.com ,สมาชิกพันทิพย์ Dr pap