มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงจุดยืนค้านโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ขึ้นภูกระดึง ชี้กระเช้าจะบั่นทอนคุณค่าของป่า สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และอาชีพของเหล่าลูกหาบ-คนค้าขาย
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว โดยให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่ไปนั้น
ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 มีรายงานว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยหลังจากนี้จะศึกษาวิเคราะห์เอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อเสนอความเห็นไปยัง อพท. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรชี้ว่าคุณค่าของภูกระดึง คือการได้เดินศึกษาระบบนิเวศในธรรมชาติระหว่างเส้นทางเดินขึ้นภูไปจนถึงเส้นทางบนหลังแป จึงต้องมีการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม พิจารณาทั้งด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม มีการศึกษาครอบคลุมถึงการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวบนหลังแปของภูกระดึงทั้งหมด ไม่ใช่การศึกษาแค่พื้นที่ก่อสร้างกระเช้า จึงไม่สมควรที่จะนำเอาพื้นที่ที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศมาทดลอง เพื่อนำร่องไปสู่การพัฒนาท่องเที่ยวในป่าอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2558 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้เคยเสนอข้อคิดเห็นประกอบรายงานศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง รายงานการศึกษาขั้นกลาง ฉบับปรับปรุงแก้ไข 20 มิถุนายน 2557 นำเสนอต่อองค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีเนื้อหาสรุป ดังนี้
1. บนหลังแปภูกระดึง เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่นับสิบตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า หากขาดการควบคุมดูแลหรือขาดการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดีพอ หรือมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และระบบนิเวศในพื้นที่
2. เนื่องจากพื้นที่บริการท่องเที่ยวเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงมีโอกาสสูงขึ้นที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากจะขึ้นไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และอาจมีอันตรายจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายด้วย
3. การเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ระหว่างคนกับธรรมชาติ ดังนั้นการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่ช่วยให้เดินทางได้รวดเร็ว และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว จึงบั่นทอนคุณค่าทางธรรมชาติในการขึ้นภูกระดึง
4. กระเช้าไฟฟ้าจะทำลายอาชีพของลูกหาบ และร้านค้าบริเวณจุดพักระหว่างเส้นทางขึ้นภูกระดึง
5. การศึกษาความเป็นไปได้ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ควรจัดทำพร้อมกัน เนื่องจากเนื้อหาข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูลมีความแตกต่างกัน กระบวนการในการพิจารณามีความแตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จะขาดความรอบคอบ และไม่เป็นธรรม