อนุรักษ์ความเป็นไทย ไปกับ “พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา”

“พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา” ได้งบประมาณของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาสนับสนุน จัดสร้างโดยบริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ สสว.

จากเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประโยชน์ทางตรงคือ อนุรักษ์ สืบสาน สร้างองค์ความรู้ขนมไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือ ผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ และสามารถต่อยอดองค์ความรู้เกิดเป็นนวัตกรรมของขนมไทย

และปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันที่เปิดบริการ ก็มีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก ซึ่งเสียงสะท้อนในด้านดีมากมายเป็นสัญญาณว่าเดินมาถูกทาง โดยนักท่องเที่ยวหลายคนให้ข้อเสนอแนะดีๆ หลายคนสงสัยว่าขนมในวรรณคดี เช่น มัศกอดเป็นอย่างไร ฯลฯ ในขณะที่ ผู้ประกอบการที่เข้ามาเดินชมก็คิดอยากจะทำออกมาขาย

ผู้เข้าชมถ่ายรูปกับเรือพายและเครื่องเบญจรงค์
เพราะฉะนั้น จากจุดเริ่มที่เคยมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์อย่างนี้ ในตอนนี้กลายเป็นว่าน่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ในที่อื่นๆ ต่อไป

สำหรับเหตุผลของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนมไทยขึ้นที่อัมพวา เป็นเพราะมีความเหมาะสมทั้งการเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ทรงพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ทำให้คนไทยได้เรียนรู้วัฒนธรรมและขนมไทยในอดีต

อีกทั้งชุมชนขนมไทยที่มีรากเหง้ายังคงอยู่ ประกอบกับการเข้ามายกระดับและพัฒนาให้ดีขึ้นโดยบริษัทฯ ทำให้ชุมชนและตลาดที่เป็นอยู่ในวันนี้มีความพร้อมรองรับการเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน

จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ขนมไทยแห่งนี้คือแนวคิดในการทำ “พิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิต” ด้วยการสร้างให้เกิดความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่ได้สัมผัส ดังนั้น ขนมทุกชิ้นที่นำมาโชว์และการจัดแสดง จึงพยายามทำให้เหมือนของจริงมากที่สุด อนุญาตให้จับต้องได้ รวมทั้งมีเรือพายขนาดเท่าของจริงสามารถลงไปนั่งเล่นได้ และรถสามล้อขายขนมแบบย้อนยุค

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเนื้อหาการสาธิตวิธีการทำ อุปกรณ์ เครื่องมือ และการห่อขนมด้วยใบตองแบบต่างๆ ซึ่งหาดูได้ยาก และบทบรรเลงกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
แนวคิดนี้มีจุดประสงค์แรกคือ เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อขนมไทย ด้วยการให้ประสบการณ์และความประทับใจที่ดีกับนักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้าเยี่ยมชม ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากจะรู้จักมากขึ้น เช่น ทำได้อย่างไร อร่อยหรือไม่ มีขายที่ไหน มีเรื่องราวเกี่ยวกับขนมพวกนี้อย่างไรบ้าง หรืออย่างน้อยก็ต้องถ่ายรูปกลับไปเป็นที่ระลึก

อีกประการคือ ต้องการทำให้คนไทยตระหนักถึงการบริโภคขนมในปัจจุบันที่ขนมจากต่างชาติและขนมสมัยใหม่ได้รับความนิยมแซงหน้าขนมไทยไปไกล จากการกระตุ้นทางธุรกิจที่หนักหน่วง เพราะฉะนั้น ความคาดหวังที่อยากจะเห็นคือ ผลพวงจากพิพิธภัณฑ์ขนมไทยแห่งนี้ มีส่วนทำให้คนไทยทุกคนสามารถทำขนมไทยได้แค่คนละอย่างเดียวเท่านั้นก็พอ ก่อนที่วัฒนธรรมไทยและสิ่งดีงามที่มีอยู่จะสูญหายไป

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่หยุดนิ่ง โดยจะเดินหน้ารวบรวมและเผยแพร่ทุกอย่างที่เกี่ยวกับขนมไทยให้ได้มากที่สุด ด้วยการเน้นการมีส่วนร่วมของคนไทย เช่น เปิดรับบริจาคเครื่องมือในการทำขนม ฯลฯ ในขณะที่การนำเสนอจะถูกปรับเปลี่ยนให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม

พร้อมทั้ง เพื่อใช้พิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือทางการตลาด และใช้เรื่องราวทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวให้ได้ผลยิ่งขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ การสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้มีชีวิตชีวามากขึ้นยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของปีนี้ได้เตรียมที่จะจัดงาน 100 ปี ตำราขนมไทย และต่อจากนั้นอาจจะจัดงานสารทขนม 12 เดือน ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมและประเพณี

พิพิธภัณฑ์ขนมไทยซึ่งจัดสร้างไว้ที่อาคารอเนกประสงค์ของเทศบาลตำบลอัมพวา ริมแม่น้ำแม่กลองและใกล้กับตลาดน้ำยามเย็น ยังเป็นทำเลที่เหมาะเจาะเพราะส่งเสริมให้คอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจไว้ว่าจะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตนั้นได้มีชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะผู้งที่เข้ามาเยี่ยมชมจะสามารถสัมผัสกับขนมไทยได้ทั้งในโลกจำลองและของจริงในเวลาเดียวกัน
การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ขนมไทยแห่งนี้ หมายถึง บทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนและพัฒนาที่บริษัทฯ ทำมาตลอด กำลังขับเคลื่อนไปในบริบทใหม่ มิติที่สัมพันธ์กันของผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะช่วยให้ “ขนมไทย” ส่วนหนึ่งฟื้นคืนชีพ ส่วนหนึ่งเร่งพัฒนา ส่วนหนึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว

และสุดท้ายผลลัพธ์โดยรวมที่จะเกิดขึ้นคือความยั่งยืนของขนมไทยนั่นเองที่มา: manager.co.th

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://www.tinyzone.tv/TravelAdm.aspx