แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจับกุมทั้งผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มากมาย แต่กวาดล้างเท่าไรก็ไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย บริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สำนักงานกฎหมายชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสาขาอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดภูเก็ตของประเทศไทย จึงได้จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์สินค้าปลอมและสินค้าเลียนแบบ” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั้งหลายได้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจ และตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายจากการปลอมแปลงสินค้า
ที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่ คุณเดวิด ไลแมน หุ้นส่วนอาวุโสของบริษัทเดินทางไปเยี่ยมชมสำนักงานนักสืบ CTS ของนายแอนโธนี อาร์. กูร์คา บนเกาะฮ่องกง แล้วได้เห็นการจัดแสดงสินค้าลอกเลียนลิขสิทธิ์ จึงเกิดความคิดนำสินค้าปลอมที่ ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ เก็บรักษาไว้ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมาจัดแสดง เพื่อเป็นความรู้แก่สาธารณะชน จึงได้กลับมาหารือกับเจ้าหน้าที่แผนกทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักงาน และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สินค้าปลอมและสินค้าเลียนแบบของติลลิกีแอนด์กิบบินส์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2532
แรกเริ่มสินค้าที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีเพียง 4 ประเภท ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องสำอาง แต่ในระยะเวลาไม่นานสินค้าเลียนแบบก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 4 ประเภท กลายเป็น 13 ประเภท โดยทางพิพิธภัณฑ์นำตัวอย่างสินค้าจริงมาวางเปรียบเทียบคู่กับสินค้าปลอม ซึ่งสินค้าบางอย่างที่คนทั่วไปนึกไม่ถึงว่าจะมีการนำมาปลอม อย่างเช่น ลูกแม็ก หรือเครื่องเขียนที่ราคาขายเพียงชิ้นละไม่กี่บาท แต่ก็ยังพบว่ามีการทำปลอมขึ้นมา ก็มีจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เช่นกัน
นอกจากได้เห็นของปลอมที่จัดแสดงแล้ว การมาเยี่ยมชมพิพิธภัฑ์แห่งนี้ยังทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับบทลงโทษ ที่แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้บริโภค แต่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้เริ่มกวดขันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีบทลงโทษผู้นำเข้าหรือถือสินค้าละเมิดฯ เข้าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป
ที่มา: kapook.com
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://www.tinyzone.tv/