ไหว้พระรับตรุษจีนนี้ที่ “วัดมังกร” เพื่อความเป็นสิริมงคล

ผ่านวันขึ้นปีใหม่สากลไปไม่ทันถึงเดือน ก็มาถึงวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า วันตรุษจีน โดยในปี 2559 นี้ ตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และสิ่งที่ชาวเชื้อสายจีนยังคงนิยมปฏิบัติกันก็คือการไหว้เจ้า ซึ่งในครั้งนี้ฉันมีสถานที่ไหว้พระไหว้เจ้ารับตรุษจีนมาแนะนำกัน

โดยหากใครที่ผ่านไปมาเส้นถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี ช่วงสาย4-สาย5 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ อาจเคยเห็นอาคารทรงจีนและเจดีย์วับๆแวมๆอยู่บ้าง หากเลี้ยวเข้าไปในซอยสักเล็กน้อยจะเราจะเจอทางเข้าและป้ายด้านหน้าที่เขียนไว้ว่า “อนุสรณ์สถานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมูลนิธิอุบลรังสีจุฬามณี” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรม และดำเนินงานด้านสาธารณกุศล

01

เรือมังกรจีนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯพระราชินีนาถ

ภายในอนุสรณ์สถานฯแห่งนี้ ได้รวมพระและเทพเจ้าของชาวพุทธทั้ง 2 สาย โดยเฉพาะมหายาน เรียกได้ว่ามีรูปเคารพแทบจะครบทุกองค์ที่นิยมนับถือกันเลยทีเดียว ซึ่งที่แห่งนี้แบ่งโซนเป็น 2 โซนด้วยกันคือทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ฉันขอเริ่มจากฝั่งซ้ายก่อนที่ “เรือมังกรจีน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ” ซึ่งตั้งอยู่อย่างโดดเด่นสวยงามที่ด้านหน้า และที่ด้านบนเรือยังประดิษฐานดาวพระเคาระห์ 9 พระองค์ ให้เราได้ไหว้ขอพรกันด้วย

02
พระสังกัจจายน์ ศาลาเมตตาเจโตธรรมสถาน

จากนั้นฉันไปยัง “ศาลาเมตตาเจโตธรรมสถาน” ที่เป็นอาคารทรง 8 เหลี่ยม มีระเบียงโดยรอบ ภายในเป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม ปางเมตตา ทำจากผ้าผสมปูน โดยทำองค์ประกอบภายนอกและภายในเหมือนร่างกายมนุษย์ และพระศรีอารยะเมตไตรย พระสังกัจจายน์ กลางศาลา ด้านข้างมีพระอรหันต์สาวก 18 องค์ และยังประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิมพันกรให้เราได้กราบไหว้ขอพรด้วย

03
18อรหันต์ ภายในศาลาเมตตาเจโตธรรมสถาน

04
เจ้าแม่กวนอิมพันกร

ส่วนทางด้านหน้าศาลาฯเป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อกวนอู หันพระพักตร์ออกนอกศาลา และพระเวทะโพธิ หันพระพักตร์เข้าภายในศาลา เพื่อประทานความเมตตาคุ้มครองสาธุชนที่มาขอบารมีธรรม และคุ้มครองรักษาสถานที่

ต่อไปเป็น “พระวิหารรัชมังคลาภิเษก รัชกาลที่9” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 และเนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งพระองค์ทรงครองราชย์ยืนนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์

ภายในอาคารพระวิหารฯนี้ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธวาหคุณอดุลยเดช ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกประทานชื่อให้

05
พระพุทธวาหคุณอดุลยเดช ภายในพระวิหารฯ

ด้านหน้าของศาลาฯและพระวิหารฯ เป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าแม่กวนอิมประทับยืนอยู่กลางสระบัวทรงแปดเหลี่ยม และยังมีศาลาที่ประดิษฐานองค์พระโลกิเตศวรภาคพันมือ และศาลาที่ประดิษฐานพระสังกัจจายน์พร้อมเสามังกรด้วย

06
เจ้าแม่กวนอิมประทับยืนอยู่กลางสระบัวทรง8เหลี่ยม

จากนั้นเป็นโซนฝั่งขวาที่มีอาคารหลักคือ “อาคารพระบรมธาตุเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ” เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2536 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539 และได้รับพระราชทานชื่ออาคารจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “อาคารพระบรมธาตุเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ” พร้อมทั้งได้รับอนุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานที่มุขด้านหน้าของอาคารนี้ด้วย

07
อาคารพระบรมธาตุเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ

สำหรับลักษณะของอาคารพระบรมธาตุเจดีย์ฯนี้ เป็นพระพุทธเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม แบ่งเป็น 2 ชั้น ภายในชั้นแรกเป็นที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวร ปางปราบมาร รอบๆเป็นพุทธประวัติขององค์พระโพธิสัตว์ในภาคของเจ้าแม่กวนอิม ส่วนบริเวณด้านบนของระเบียงรอบๆ จะเป็นกระจกแกะลายภาพเจ้าแม่กวนอิม พร้อมลงสีสวยงามติดอยู่ทั้ง 84 ภาค

08
พระอวโลกิเตศวร ปางปราบมาร

ส่วนที่บริเวณชั้นบนเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปหยกขาว หน้าตัก 60 นิ้ว สูง 2.10 เมตร โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โปรดประทานนามพระประธานองค์นี้ว่า “พระพุทธชัยมงคลประทาน”

นอกจาก 2 ชั้นที่เราสามารถเดินขึ้นไปชมได้แล้ว ที่ชั้นบนสุดอาคารพระบรมธาตุเจดีย์ฯนี้ ได้จัดตกแต่งแบบลัทธิพุทธตันตระหรือวัชรยาน พร้อมทั้งได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากประเทศต่างๆ คือ ไทย อินเดีย ศรีลังกา จีน และธิเบต ไว้บนยอดเจดีย์ทองด้วย แต่ไม่มีทางสำหรับขึ้นไปกราบไหว้ ต้องไหว้จากด้านล่างเท่านั้น

09

รอบนอกอาคารพระบรมธาตุเจดีย์ฯ

ด้านหน้าของอาคารพระบรมธาตุเจดีย์ฯ มี “เรือมังกร” ตั้งอยู่ ซึ่งมีเสาหลักโลกสีทองสูง 16 เมตร พร้อมมังกร 3 ตัวพันอยู่รอบๆ และยังมีเสาแทนฟ้าแทนดินสูง 12 เมตร พร้อมมังกร 2 ตัวพันอยู่รอบๆเสาเช่นกัน บนเรือประดิษฐานพระเวทะโพธิสัตว์, พระสังกัจจายน์ และเทพเจ้ากวนอูให้ไหว้ขอพรกัน

10
เรือมังกรอาคารพระบรมธาตุเจดีย์ฯ

ใกล้ๆกับอาคารพระบรมธาตุเจดีย์ฯ เป็นที่ตั้งของ “วิหารคชวัตร” เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เนื่องในมงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ ซึ่งท่านทรงมีเมตตาและคุณูการแก่มูลนิธิอุบลรังสีฯ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาคารจึงขอประทานอนุญาตอัญเชิญพระนามย่อ ญสส. ประดิษฐานที่หน้าบันของวิหารคดด้วย และยังประทานอนุญาตให้ใช้นามวิหารคดนี้ว่า “คชวัตร์” ซึ่งเป็นนามสกุลเดิมของท่าน

11
หุ่นขี้ผึ้งภายในวิหารคชวัตร

ภายในวิหารคชวัตรนี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานประติมากรรม พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ได้แก่ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ, พระโกนาคมโน, พระกัสสป, พระสมณโคดม และพระศรีอริยเมตไตร นอกจากนี้ยังมีพระเกจิอาจารย์ หุ่นขี้ผึ้ง หุ่นไฟเบอร์ และหุ่นโลหะ จำนวน 30 องค์ เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ, พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส, ครูบาศรีวิไชย สิริวิชโย วัดบ้านปาง จ.ลำพูน, หลวงปู่ชีวก โกมารภัทร์ เป็นต้น

12
พระบรมราชานุสาวรีย์ 3 สมเด็จพระมหาราชแห่งสยาม

ต่อไป “พระบรมราชานุสาวรีย์ 3 สมเด็จพระมหาราชแห่งสยาม” เป็นประติมากรรมพระบรมรูปหล่อโลหะ 3 มหาราช ได้แก่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี และสมเด็จพระปิยมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ยังมี “ศาลาทอง ศาลาเงิน” ลักษณะเป็นเก๋งจีน โดยศาลาทองเป็นที่ประดิษฐาน พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ ส่วนศาลาเงินนั้นเป็นที่ประดิษฐาน หลวงปู่ไต่ฮงกง และ“เทวาลัย” เป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่พระศรีอุมาเทวี องค์พระศิวะ องค์พระพิฆเนศวร องค์พระขันธกุมาร และท้าวมหาพรหม ของศาสนาฮินดูด้วย

13
เทวาลัยพระพรหมและศาลาเงิน

รวมแล้วอนุสรณ์สถานฯ มูลนิธิอุบลรังสีฯนี้มีพระ เทพเจ้า เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ให้เราได้กราบไหว้ขอพรกันหลายองค์เลยทีเดียว ตรุษจีนนี้ชาวไทยเชื้อสายจีนคนใดยังไม่มีที่ไหว้เจ้าในใจฉันขอแนะนำ “อนุสรณ์สถานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมูลนิธิอุบลรังสีจุฬามณี” ไว้เป็นอีกทางเลือกทางบุญ ตรุษจีนนี้ ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ เฮง เฮง เฮง

ที่ตั้ง
อนุสรณ์สถานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมูลนิธิอุบลรังสีจุฬามณี” ตั้งอยู่ที่ ถ.ปิ่นเกล้านครชัยศรี (ขาเข้า ช่วงสาย4-5) ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ทางฝั่งซ้าย (ฝั่งศาลาเมตตาฯ) เปิดทุกวันอังคาร – อาทิตย์ ส่วนทางฝั่งขวา (ฝั่งอาคารพระบรมธาตุเจดีย์ฯ) เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-17.00 น.

ที่มา: manager.co.th

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://www.tinyzone.tv/Travel.aspx