“น่าน” จังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือ จังหวัดที่แทบจะไม่มีแสงสี คอยรบกวน มีแต่ความเป็นอยู่แบบวิถีชาวบ้านอย่างแท้จริง มีเพียงวัด ที่หาง่ายกว่าผับและพอจะเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่พอจะทำให้พ่อแก่ แม่เฒ่า และคนหนุ่มสาวที่ชอบเข้าวัด มีโอกาสได้มาพบปะ ทักทายกันด้วยรอยยิ้มและความจริงใจที่มีให้กัน
พอพูดแบบนี้ใครหลายคนอาจถอดใจในความเรียบง่าย..ไม่เห็นมีอะไรน่าดึงดูดเลย!! แต่ช้าก่อน..คิดผิดแล้ว..ในทางกลับกันมันเป็นสวรรค์ดีๆ สำหรับนักเดินทางอีกกลุ่มนึง ที่เค้าไม่ได้ต้องการแสงสี แต่แค่ต้องการเข้ามาเที่ยวเยี่ยมชมธรรมชาติในจังหวัดน่านอย่างเป็นมิตรและพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ แค่นั้นก็น่าจะเพียงพอ
สำหรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่ชอบความสงบ เรียบง่าย และต้องการซึมซับธรรมชาติจริงๆ ของจังหวัดน่านและมีความตั้งใจที่จะไปเยือนเมืองน่าน เมืองเล็กๆแห่งนี้ ก็อยากจะแนะนำ 6 สถานที่ ที่คิดว่าถ้าได้ไปแล้ว..มันก็น่าจะเหมาะที่จะเก็บไว้เป็นความทรงจำที่ดี
วัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์กับรูปภาพกระซิบรักบันลือโลก ที่ใครหลายคนคงเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างตามรายการโทรทัศน์หรือในภาพยนตร์ วัดภูมินทร์เดิมชื่อวัดพรหมมินทร์ เป็นวัดหลวงของจังหวัดน่าน สร้างขึ้นเมื่อปี 2139 ตั้งอยู่ ตำบลในเวียง ซึ่งความพิเศษของวัดภูมินทร์ที่ทำให้เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ก็คือเป็นวัดที่สร้างเป็นทรงจัตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวชาดก วิถีชีวิตพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านเมื่อครั้งอดีต ที่สะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของผู้คนสมัยก่อน ที่จะนุ่งผ้าที่คล้ายกับผ้าซิ่นลายน้ำไหล ด้วยวิธีการทอผ้าด้วยกี่ทอมือ และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ บานประตูที่แกะสลักบนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ที่ออกแบบเป็นลายเครือเถา มีดอกไม้และผลห้อยระย้าตามต้น
บ่อเกลือสินเธาว์
บ่อเกลือสินเธาว์ เป็นบ่อเกลือที่ตั้งอยู่ในอำเภอบ่อเกลือ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อครั้งอดีตบ่อเกลือแห่งนี้ถูกเรียกว่า “เมืองบ่อ” ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีบ่อเกลือสินเธาว์ ที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวน 7 บ่อ คือ บ่อหลวง บ่อหยวก บ่อเวร บ่อน่าน บ่อกิน บ่อแคะ และบ่อเจ้า บ่อเกลือมีจำนวนทั้งหมด 2 บ่อ คือ บ่อเกลือเหนือและบ่อเกลือใต้
ในส่วนของบ่อเกลือเหนือจะมีขนาดใหญ่ และมีโรงต้มเกลือเยอะกว่าโรงต้มเกลือบ่อใต้ ซึ่งบ่อต้มเกลือทั้ง 2 บ่อนี้ ยังคงต้มด้วยวิธีโบราณ โดยการใช้กระทะใบใหญ่วางบนเตาต้มดินเหนียว หรือแขวนตะกร้าไม้ ที่ทำมาจากไม้ไผ่ที่นำมาสานกันเป็นใบเล็กๆ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวน่านที่ดำเนินมากว่าร้อยปี และยังคงดูมีเสน่ห์อย่างไม่เสื่อมคลายในบ่อเกลือสินเธาว์แห่งนี้ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวควรเข้ามาได้สัมผัส
วัดพระธาตุแช่แห้ง
ใครมาเมืองน่าน แต่ไม่ได้มาสัมผัสนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ก็เหมือนมาไม่ถึงน่าน เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดน่าน ที่มีอายุยืนยาวมากว่า 600 ปี ทุกวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ หรือประมาณเดือนมีนาคม จะมีงานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นงานประเพณีนมัสการพระธาตุแช่แห้งที่สำคัญ และเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ตามคติการไหว้พระธาตุตามปีนักษัตรของชาวล้านนา
อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
เป็นอุทยานที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าดอยภูา ป่าผาแดง ในตำบลดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 153,982 ไร โดยภายในอุทยานจะมีน้ำตกต่างๆ ที่มีความสวยงามซ่อนตัวอยู่ เช่น น้ำตกสะปัน น้ำตกห้วยตี้ น้ำตกบ้านเด่น น้ำตกห้วยห้า ลำน้ำว้า สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเข้ามาเยี่ยมชม ต้องมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายน
ภาพประกอบ จาก อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 8 อำเภอของจังหวัดน่าน คือ อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอแม่จริม เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน ซึ่งในช่วงต้นปีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ต้นชมพูภูคา จะผลิดอกสีชมพูออกมาอวดสายตานักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปเยือนในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา นอกจากนั้นยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น ดอยภูแว ถ้ำผาฆ้อง ธารน้ำลอด น้ำตกต้นตอง เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
อุทยานแห่งชาติศรีน่านมีพื้นที่ครอบคลุม อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่สองฟากฝั่งลำน้ำน่าน จนไปสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เป็นป่าที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ที่สำคัญของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของประชาชนในจังหวัดน่าน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหลายอย่าง และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงามได้แก่ เสาดินและคอกเสือ ปากนาย แก่งหลวง จุดชมทิวทัศน์ดอยผาชู้ ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน จุดชมวิวดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์
ดอยเสมอดาว
ขอบคุณภาพประกอบ จาก คุณพิศาล มโนลีหกุล