เพชรบุรี บอกเลยว่าจังหวัดนี้มีของเด็ด มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย จะเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ หรือจะแวะไปค้างสักคืนก็ดีไม่หยอก แต่ไม่ว่าใครไปเที่ยวเมืองเพชรก็ล้วนประทับใจด้วยกันทุกคน เหมือนกับ คุณ UncleJack ที่ค้นพบว่าเพชรบุรีมีของเด็ดอยู่ 3 อย่าง ที่ไม่แพ้ใคร อย่างแรก…ความหวานของน้ำตาลโตนด ภาพของทิวดงตาลที่ปลูกเรียงรายสองข้างทาง น่าจะเป็นประจักษ์พยานความหวานเป็นอย่างดี อย่างที่สอง…ความเค็มของเกลือสมุทรแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ นาทีนี้ไม่มีใครเทียบเท่าเพชรบุรีอีกแล้ว นั่นแน่ ! หลายคนเริ่มอยากรู้ว่าแล้วทีเด็ดสุดท้ายของเมืองเพชรคืออะไร ของดีแบบนี้ไปตามดูต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก ART of Traveler กันให้จุใจ แล้วคุณจะรู้เลยว่าทำไมใคร ๆ ถึงอยากไปเที่ยวเพชรบุรี
+++++++++++++++++++++++
มีเรื่องเล่าเล่น ๆ ในวงหมากรุก ระหว่างคนเมืองเพชรกับคนสุพรรณบุรี ว่าเมืองไหนมีต้นตาลมากกว่ากัน ไม่ว่าสุพรรณจะบอกจำนวนเท่าไรเพชรบุรีต้องมีมากกว่าหนึ่งเสมอ เหน่อสุพรรณยอมพ่ายไม่อยากต่อปากต่อคำ เพราะเกรงน้ำเสียงและท่วงท่าดุดันของคนใจนักเลงเมืองเพชร แต่เวลาไปจีบสาวหนุ่มเมืองนี้ปากหวานแต่จริงใจ จนมีคำเปรียบเปรยว่า…ปากหวานเหมือนน้ำตาลเมืองเพชร
… หวาน …
หากยึดถนนเพชรเกษมเป็นเส้นแบ่ง น้ำตาลโตนดที่ได้จากฝั่งตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งทะเลจะหวานหอมน้อยกว่าฝั่งตะวันตก จึงเชื่อว่าดินเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพน้ำตาลต่างกัน แหล่งตาลโตนดคุณภาพดีอยู่ที่อำเภอบ้านลาด หลายแห่งจัดเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำน้ำตาลโตนดตั้งแต่เริ่มจนจบ เช่น บ้านถ้ำรงค์, สวนตาลกำนันถนอม ฯลฯ
ภาพดงตาลกลางทุ่งในเวลารุ่งเช้าและเย็นย่ำเป็นที่นิยมของคนชอบถ่ายภาพ ส่วนโลเคชั่นอาจต้องตระเวนหา ทางฝั่งตะวันตกแถวอำเภอบ้านลาดจะแน่นเฟรมกว่า แต่ละฤดูกาลก็ให้อารมณ์และความรู้สึกต่างกัน เป็นหนึ่งกิจกรรมต้องห้ามพลาดเมื่อมีโอกาสมาเยือน
ก้นครัวตามบ้านสมัยก่อน ปัจจุบันบางบ้านอาจทำอยู่ เค้าจะเคี่ยวน้ำตาลโตนดใส่หม้อเล็ก ๆ เอาไว้เติมแต่งรสชาติอาหาร ลิ้นคนเพชรจึงติดหวานแม้เป็นอาหารคาว พิสูจน์ง่าย ๆ ด้วยการลองไปชิมก๋วยเตี๋ยวเนื้อ-หมูน้ำแดง หลายเจ้าที่ขายอยู่ นั่นอาจเป็นเหตุผลให้คนย่านนี้เติมซอสพริกศรีราชาผสมพริกกะเหรี่ยงดองเกลือในก๋วยเตี๋ยว หวานซ่อนเผ็ดกลมกล่อมแบบคนเมืองเพชร
“ขนมจีนทอดมัน” เมนูแปลกสำหรับคนต่างถิ่น แต่ที่นี่เค้ากินทอดมันกับขนมจีนเป็นปกติ ทอดมันปลากรายร้อน ๆ บางเจ้าอาจใช้ปลาอินทรีผสมกับปลาน้ำดอกไม้ คลุกเคล้าเครื่องแกง ใบกะเพราสด ปั้นพอคำ หย่อนลงในน้ำมันเดือด สุกแล้วจับวางบนขนมจีน ราดน้ำจิ้มใสคล้ายอาจาด เสริมด้วยแตงกวาหั่น รสหวานอมเปรี้ยวหน่อย ๆ ลองหาชิมดูหากมีโอกาส
“ข้าวแช่” ตำรับชาววังที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้งทรงเสด็จมาประทับบนพระนครคีรี (เขาวัง) โดยเจ้าจอมมารดากลิ่น (ซ่อนกลิ่น) พระสนมเอก ได้ทำถวาย บ่าวไพร่ที่รับใช้อยู่ในห้องเครื่องจึงได้เรียนรู้และแพร่หลายออกไปสู่คนท้องถิ่นในที่สุด เครื่องเคียงของข้าวแช่เมืองเพชรจะมีแค่ 3 อย่างคือ ปลาหวาน ไชโป๊หวาน ลูกกะปิ ไม่ครบเครื่องเหมือนข้าวแช่ชาววัง … แต่ละเจ้าก็มีเคล็ดลับความอร่อยเฉพาะตัว
อย่างข้าวแช่ป้าเอื้อนตรงหัวมุมถนนอนามัย จะใช้ปลากระเบนตากแห้งยีให้ฟู เคี่ยวกับน้ำตาลโตนดนานหลายชั่วโมงจนได้ปลาหวานเนื้อหนึบ ส่วนลูกกะปิทอด ใช้กะปิอย่างดีคลุกเคล้าเครื่องเทศพวกหอมแดง ตะไคร้ รากผักชี ฯลฯ จนเนื้อเข้ากัน ปั้นแล้วนำไปทอด… วิธีหม่ำข้าวแช่ให้อร่อยควรตักเครื่องเคียงเข้าปากเคี้ยวจนพอใจ ตามด้วยข้าว ซดน้ำอบควันเทียน ลอยดอกมะลิ กระดังงาไทยลนไฟ หอมเย็นชื่นใจตบท้าย นิยมใช้ช้อนทองเหลืองเพราะช่วยเก็บความเย็นได้ดี ป้าเอื้อนขายมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนล่วง 74 ปีเข้าไปแล้ว ยังนั่งประจำการอยู่ที่เดิม เพิ่มเติมคือราคาชุดละ 20 บาท (มีนาคม 2559)
… เค็ม …
เพชรบุรีเป็นแหล่งทำเกลือสมุทรใหญ่ที่สุดในประเทศ … ถนนเลียบชายฝั่งช่วงบ้านบางแก้ว ปากทะเล บางขุนไทร ต่อไปจนถึงอำเภอบ้านแหลม สองฝั่งทางถูกขนาบด้วยนาเกลือ ซึ่งจะทำในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ย่างเข้าฤดูฝนจะหยุดพัก เพราะน้ำฝนเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำนาเกลือ
การทำนาเกลือเป็นอาชีพที่มีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลา ต้องอาศัยความอดทนมากพอสมควร นาผืนใหญ่จะถูกแบ่งเป็นกระทง … ผืนที่ใกล้น้ำจะเรียกว่า “นาขังน้ำ” เค้าจะนำน้ำทะเลมาขังไว้เป็นเดือน ๆ หรือหลายเดือนเพื่อให้ตกตะกอน จากนั้นจะผันน้ำเข้า “นาตาก” อาบแดดให้น้ำระเหยจนวัดค่าความเข้มข้นได้ 5 ดีกรีโบเม่ (หน่วยวัดความเค็ม) สมัยยังไม่มีเครื่องวัดชาวนาเกลือจะใช้วิธีสังเกตฟองอากาศสีของแสงที่ตกกระทบผิวน้ำ ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ล้วน ๆ
จากนาตากจะผันเข้าสู่ “นาดอก” เมื่อเห็นว่าความเค็มได้ที่จึงผันเข้า “นาวาง” ระหว่างนี้อาจระบายน้ำกลับไป-กลับมาระหว่างนาดอกกับนาวาง จนได้ค่าความเข้มข้นที่ต้องการ สุดท้ายจะมาจบที่นาวาง ทิ้งไว้ 3-4 คืน จนเกลือตกผลึก ถึงจะมีการรื้อหรือแซะเกลือจากพื้นนา แล้วโกยไว้เป็นกอง ปล่อยไว้หนึ่งคืนให้สะเด็ดน้ำ นาวางจะอยู่ติดฉางเกลือ ในตำแหน่งใกล้ถนนเพราะง่ายต่อการขนส่ง
ช่วงนาดอก… จะมีผลึกเล็ก ๆ ลอยอยู่บนผิวน้ำเรียกว่า “ดอกเกลือ” ชาวนาเกลือมักจะช้อนมาเก็บไว้ นิยมนำมาใส่ในอาหารหรือคลุกข้าวเพราะรสไม่เค็มมาก บางคนว่าเค็มอ่อน ๆ มีหวานตามที่ปลายลิ้น ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรายาโบราณหลายขนาน … ดอกเกลือคุณภาพดีต้องช้อนก่อนฟ้าสาง เพราะยังไม่โดนแดดเผา ถือเป็นของมีค่าที่ชาวนาเกลือหวงแหน นอกจากจะเก็บไว้ในบ้านยังเป็นของกำนัลชั้นยอด สำหรับเจ้านายผู้ใหญ่หรือคนที่เค้าเคารพนับถือ
ดอกเกลือถูกนำมาผสมกับสมุนไพรอย่าง ขมิ้น ไพล ว่านนางคำ ทานาคา ฯลฯ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวพรรณ โดย “กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง” ภายใต้แบรนด์ ispa ที่กลุ่มยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ และมีบริการนวดตัว นวดเท้า ขัดหน้า ขัดผิว บนระเบียงบ้านเรือนไทย ลมโกรกเย็นสบาย … อยากชิมอาหารแบบท้องถิ่น อย่างต้มส้มปลากระบอก แกงส้มผักกาดดองปลาริวกิว ปูชุบแป้งทอด ฯลฯ ที่นี่เค้าจัดให้ได้ แต่ต้องโทรแจ้งล่วงหน้าก่อนเท่านั้นนะ
แสงสวย ๆ แต้มแต่งผืนนาเกลือยามเช้า-เย็น แผ่นน้ำสะท้อนแผ่นฟ้าราวกระจกเงา วิถีชีวิตของชาวนาเกลือที่ต้องอาศัยความอดทน ในช่วงรื้อและขนเกลือ เตรียมเมมโมรี่การ์ด แบตเตอรี่ แว่นกันแดด หมวกให้พร้อม แล้วเพลิดเพลินกับความงามที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตตลอดเส้นทางสายเกลือเส้นนี้
กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง อยู่บนถนนสาย พบ.4028 ระหว่าง กม.20-21 สอบถามเส้นทางได้ที่ โทรศัพท์ 0 3240 5238-40, 08 6544 4473
แสงอุ่น ๆ บนถนนสายเกลือช่วงบ่ายคล้อยถึงเย็น
ทั้งนี้เพื่อน ๆ สามารถติดตามชมของดีอย่างที่สามของเมืองเพชรกันต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก ART of Traveler แล้วคุณจะรู้เลยว่าทำไมใคร ๆ ถึงอยากไปเที่ยวเพชรบุรี
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : www.artoftraveler.com , เฟซบุ๊ก ART of Traveler ,http://travel.kapook.com/