ฉลาม เป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสไวมาก ความสามารถในการดมกลิ่นนั้นทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ พวกมันจะได้กลิ่นเลือดใต้น้ำ แม้จะเจือจางเพียง 1 ใน 25 ล้านส่วน ซึ่งเท่ากับเลือด 1 หยดต่อน้ำ 9.000 ลิตร กระแสน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดความเร็วและทิศทางในการแพร่กระจายของกลิ่น เพราะฉลามจะว่ายน้ำเข้าหากระแสน้ำแทนที่จะว่ายตามน้ำ หากคุณมีเลือดเพียงเล็กน้อยฉลามก็จะรีบดิ่งมาหาคุณทันที นอกจากจมูกดีเป็นเลิศแล้ว ฉลามยังมีสายตาที่มองเห็นได้ดีมากด้วย ถึงแม้บางทีจะมีตัวที่สายตาไม่ดีแต่มันยังเก่งในเรื่องการฟังเสียงด้วย มันสามารถฟังเสียงที่มีความถี่ต่ำ และสามารถได้ยินเสียงว่ายน้ำตีขาที่อยู่ห่างออกไปกว่าครึ่งกิโลเมตร ดังนั้น หากคุณไม่อยากถูกงาบ ก็ว่ายน้ำ ตีขา เบาๆนะคะ
ก่อนลงเล่นน้ำ
1. บริเวณปากแม่น้ำ ไม่ใช่ที่ปลอดภัย
ให้หลีกเลี่ยงบริเวณปากอ่าว หรือปากแม่น้ำเพราะเป็นโซนที่อยู่ของฉลาม ทั้งฉลามขาว (great white sharks) ฉลามเสือ (tiger sharks) ฉลามหัวบาตร (bull sharks) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อันตราย และคาดเดาไม่ได้
2. เรือหาปลาคือสัญญาณเตือนภัยชั้นดี
ลองมองไปที่เส้นขอบฟ้า หากคุณเห็นเรือหาปลาอยู่ละก็ ให้หลบเลี่ยงไปไกลๆ เพราะในกระบวนการจับปลานั้นคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีกลิ่นคาวเลือด และกลิ่นอื่นๆ ที่ออกมาจากตัวปลาที่จับ เป็นเหยื่อล่อชั้นเยี่ยมให้เหล่าฉลามแวะเวียนเข้ามา กรณีนี้พูดถึงทั้งเรือประมง และเรือตกปลาเพื่อการพักผ่อน
3. เล่นให้ถูกเวลา
การออกไปว่ายน้ำในช่วงเช้าตรู่ หรือในตอนค่ำนั้นไม่ใช่ความคิดที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นช่วงที่คนถูกฉลามโจมตีมากที่สุด สาเหตุง่ายๆ ก็คือมองไม่เห็น และไม่รู้ว่ามันกำลังมานั่นเอง
4. อย่าปัสสาวะ หรือปล่อยเลือดให้ไหลลงน้ำ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าฉลามนั้นมีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก เลือดแม้หยดเดียวก็ดึงดูดพวกมันเข้ามาแล้ว รวมไปถึงกลิ่นยูรีนจากปัสสาวะของคน และกลิ่นจากสตรีที่กำลังมีประจำเดือนก็เช่นกัน
หากว่าคุณต้องเผชิญหน้ากับฉลามขึ้นมาจริงๆ ล่ะก็ ที่ต้องทำก็คือ
1. ตั้งสติ
หากกำลังว่ายน้ำเล่นเพลินๆ รู้สึกตัวอีกทีมีฉลามมาว่ายวนรอบตัวล่ะก็ อย่างแรกคืออย่าตื่นตระหนกตกใจ ยิ่งพยายามตีน้ำหนียิ่งเป็นการดึงดูดความสนใจของฉลาม ต้องอธิบายก่อนว่าสำหรับสัตว์บก ไม่ว่าจะเป็นลิง หมา แมว หรือคนหากต้องการลองชิมอะไรสักอย่างจะใช้วิธีการสัมผัส และดมกลิ่นเพื่อประเมินว่าควรจะลองเอาเข้าปากหรือไม่ แต่สำหรับฉลามแล้วทางเดียวที่มันจะลองชิมได้คือต้อง “งับ” ดูเสียก่อนแล้วค่อยตัดสินใจต่อไป ฉะนั้นจงอย่าวู่วามตีน้ำจนกระจาย อยู่นิ่งๆ จะทำให้มันสงสัย และลังเลใจในการเข้ามาชิม
2. จ้องตาเข้าไว้
ให้หันหน้ามองไปยังทิศทางที่ฉลามอยู่เสมอ โดยธรรมชาติฉลามมักจะเลือกจู่โจมเหยื่อที่ไม่ทันระวังตัว และพยายามเข้าทางข้างหลังมากกว่าพุ่งหาตรงๆ
3. ทำตัวให้ใหญ่…ไม่ก็เล็กไปเลย
ส่วนนี้แหละที่ยากที่สุด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นหลัก หากฉลามอยู่ในโหมดเตรียมพร้อมจะโจมตีคุณแล้วล่ะก็ ให้กางแขนขา พยายามทำตัวให้ใหญ่มากที่สุดเป็นการข่มขวัญ แต่หากดูท่าทีแล้วมันแค่กำลังว่ายผ่านมาล่ะก็ ให้หดตัวเก็บขาทำให้ดูเล็กที่สุด เพราะบางครั้งมันอาจเห็นว่าคุณเป็นตัวอะไรสักอย่างที่จะมาแย่งแหล่งอาหารของมัน การทำตัวให้เล็กก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นคู่แข่งของมัน
4. อย่าแกล้งตาย
นี่ฉลามนะ..ไม่ใช่หมี หากจะโดนงับอยู่แล้วนี่คงไม่ใช่เวลานอนเฉยๆ ใช้ทุกอย่างที่คุณมีเพื่อป้องกันตนเอง ทั้งต่อย เตะ ถ้ามีไม้ติดกล้องโกโปร หรือท่ออากาศที่ติดมากับหน้ากากดำน้ำก็ใช้ทิ่มได้เหมือนกัน จุดที่บอบบางที่สุดของมันมีสองที่ คือจมูก และเหงือก ให้เน้นตีที่บริเวณนี้จะช่วยไล่มันได้
5. อย่าเปิดช่องว่าง
หากคุณเป็นนักดำน้ำลึกแล้วเจอฉลามล่ะก็ ให้พยายามหันหลังเข้าแนวปะการังหรือโขดหินเพื่อปิดช่องว่างจากข้างหลัง มองตามตำแหน่งฉลามอยู่ตลอดเวลาแล้วค่อยๆ ว่ายขึ้นผิวน้ำช้าเพื่อขึ้นเรือ
6. ว่ายช้าๆ
ข้อนี้สัมพันธ์กับข้อแรก คือห้ามตกใจแล้วรีบว่ายตีน้ำแรงๆ ให้เคลื่อนไหวอย่างระวัดระวังมากที่สุด ว่ายเข้าฝั่งหรือเรือโดยหันหน้าให้ฉลามอยู่เสมอ
อีกทริคสำคัญหากจวนตัวจริงๆ คุณหนีมันไม่ทันก็อย่าตกใจไปนะคะ ให้พยายามพลิกตัวมันแล้วจั๊กจี้พุงมัน ฉลามจะเข้าสู่ภาวะไม่ตอบสนองตามธรรมชาติ ( Tonic immobility) มันจะลอยตัวอยู่เฉยๆ เหมือนกำลังจะหลับ จากนั้นคุณจะมีเวลาอีก 15 นาทีเพื่อที่จะหนี ก่อนที่มันจะรู้สึกตัว แต่ก็ใช่ว่าฉลามทุกพันธุ์จะมีปฎิกิริยาเดียวกันหมดนะคะ เช่น ฉลามเสือจะมีจุดอ่อนต่อการนวดรอบดวงตา คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับดวงและสติของแต่ละคนแล้วหละคะ ยังไง Traave.com ก็ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากทริปใต้ทะเลที่มีเจ้าสัตว์ดุร้ายก็แล้วกันนะคร้า
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : cnn , http://travel.truelife.com/ , www.theglobeandmail.com , proof.nationalgeographic.com