โดดเด่นงามแปลกตาหอระฆังและหอพระที่สร้างจากโอ่งกว่า 8500 ใบ วัดเป็นศูนย์รวมใจของเหล่าพุทธศาสนิกชน เมื่อเข้าไปทำบุญตามวัดต่าง ๆ สิ่งที่เห็นภายในวัดจะขาดเสียไม่ได้คือหอระฆัง หอกลอง ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะเป็นเครื่องไม้ หรือก่อที่สร้างด้วยโครงสร้างแบบก่ออิฐถือปูน
แต่ที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม วัสดุที่ใช้ไม่เหมือนวัดแห่งอื่นเพราะที่นี่หอระฆังหอกลองทำจากโอ่งทั้งขนาดน้อยใหญ่ รวมกันมากกว่า 6,000 ใบ สวยงามแปลกตาหาใดเหมือน หลวงพ่ออุดม เตชะวโร เจ้าอาวาสวัดตระคลอง เล่าว่า ในสมัยโบราณ การบอกเวลาในโมงยามต่างๆจะใช้การตีกลองและระฆัง
จึงมีการสร้างหอระฆังและหอกลอง มาตั้งแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน โดยมากพบในวัด ทั้งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ใช้แขวนระฆังและกลองสำหรับตีบอกเวลา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทราบเวลาสำหรับการประกอบวัตรปฏิบัติต่างๆ โดยพร้อมเพรียงกันอันได้แก่ การทำวัตรเช้า-เย็น การฉันเพล ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างของหอระฆังและหอกลองนั้นมีความคล้ายคลึง อาจแตกต่างกันเฉพาะชื่อเรียกเท่านั้น
โดยทั่วไป มักสร้างขึ้นโดยใช้แผนผังรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เน้นให้มีรูปทรงสูง วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดเครื่องไม้ โครงสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกับการก่อสร้างตึกทั่ว ๆ
สำหรับการก่อสร้างหอระฆัง และหอกลองที่เห็น ออกแบบและก่อสร้างโดยเจ้าอาวาสวัดองค์ก่อน ซึ่งท่านได้มรณภาพไปแล้ว สร้างมานานกว่า 10 ปี หลังจากท่านออกแบบแล้ว ได้ให้ญาติโยมเดินทางไปซื้อโอ่งมังกรขนาดต่าง ๆ ประมาณ 6,000 ใบ รวมงบประมาณในการก่อสร้างเฉพาะค่าวัสดุ ปูนซีเมนต์ หินและทราย 600,000 บาท ไม่รวมค่าแรง
ซึ่งอาศัยแรงงานจากพระในวัดและญาติโยมเข้ามาช่วยกันก่อสร้าง ลักษณะลงแรงทำบุญร่วมกันใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ ซึ่งหอระฆังและหอกลองหลังนี้มีความสูงประมาณ 15 เมตร ด้านล่างเป็นที่ตั้งของกลองขนาดใหญ่ส่วนด้านบนชั้น 2 เป็นที่แขวนระฆัง
ด้านแรงบันดาลใจที่ใช้โอ่งมังกรในการก่อสร้าง เนื่องจากโอ่งมังกรมีลวดลายที่สวยงาน อีกทั้งภายในโอ่งยังสามารถใส่เหรียญ วัถตุมงคลที่ญาติโยมมาร่วมทำบุญได้นำไปบรรจุไว้ภายใน วันข้างหน้าจะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับให้รุ่นต่อ ๆ ไปได้ศึกษา
รวมถึงความแปลกใหม่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมอีกทางหนึ่ง ปัจจุบัน วัดยังคงใช้การตีระฆังและกลอง เพื่อบอกเวลาปฏิบัติกิจของสงฆ์เช่นเดิม นอกจากเป็นเสียงที่ดังกังวานและเยือกเย็นแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของการสร้างหอระฆังและหอกลองของไทยไว้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีความงามที่วัดได้สร้างขึ้นด้วยโอ่งอีกเช่นกัน คือ หอพระที่ตกแต่งด้วยโอ่งขนาดต่าง ๆ จำนวนกว่า 2,500 ใบ โดยนามหอพระแห่งนี้นามว่า”พระศรีสรรเพชร” ส่วนบนสร้างพระพุทธเจ้าลักษณะปางมารวิชัย ส่วนด้านล่างเป็นโถงซึ่งภายในประดิษฐานรูปปั้นของหลวงพ่อใจอดีตเจ้าอาวาสและหลวงพ่อเสริม เจ้าคณะอำเภอหัวหิน ผู้ที่เดินทางมาสร้างอุโบสถให้กับวัดตระคลองวัดแห่งนี้ ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาและระลึกถึงคุณความดีที่ได้สร้างและพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน
ที่ตั้ง : วัดตระคลอง จ.มหาสารคาม