“พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา” ได้งบประมาณของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาสนับสนุน จัดสร้างโดยบริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ สสว.
และปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันที่เปิดบริการ ก็มีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก ซึ่งเสียงสะท้อนในด้านดีมากมายเป็นสัญญาณว่าเดินมาถูกทาง โดยนักท่องเที่ยวหลายคนให้ข้อเสนอแนะดีๆ หลายคนสงสัยว่าขนมในวรรณคดี เช่น มัศกอดเป็นอย่างไร ฯลฯ ในขณะที่ ผู้ประกอบการที่เข้ามาเดินชมก็คิดอยากจะทำออกมาขาย
สำหรับเหตุผลของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนมไทยขึ้นที่อัมพวา เป็นเพราะมีความเหมาะสมทั้งการเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ทรงพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ทำให้คนไทยได้เรียนรู้วัฒนธรรมและขนมไทยในอดีต
จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ขนมไทยแห่งนี้คือแนวคิดในการทำ “พิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิต” ด้วยการสร้างให้เกิดความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่ได้สัมผัส ดังนั้น ขนมทุกชิ้นที่นำมาโชว์และการจัดแสดง จึงพยายามทำให้เหมือนของจริงมากที่สุด อนุญาตให้จับต้องได้ รวมทั้งมีเรือพายขนาดเท่าของจริงสามารถลงไปนั่งเล่นได้ และรถสามล้อขายขนมแบบย้อนยุค
อีกประการคือ ต้องการทำให้คนไทยตระหนักถึงการบริโภคขนมในปัจจุบันที่ขนมจากต่างชาติและขนมสมัยใหม่ได้รับความนิยมแซงหน้าขนมไทยไปไกล จากการกระตุ้นทางธุรกิจที่หนักหน่วง เพราะฉะนั้น ความคาดหวังที่อยากจะเห็นคือ ผลพวงจากพิพิธภัณฑ์ขนมไทยแห่งนี้ มีส่วนทำให้คนไทยทุกคนสามารถทำขนมไทยได้แค่คนละอย่างเดียวเท่านั้นก็พอ ก่อนที่วัฒนธรรมไทยและสิ่งดีงามที่มีอยู่จะสูญหายไป
พร้อมทั้ง เพื่อใช้พิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือทางการตลาด และใช้เรื่องราวทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวให้ได้ผลยิ่งขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ การสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้มีชีวิตชีวามากขึ้นยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของปีนี้ได้เตรียมที่จะจัดงาน 100 ปี ตำราขนมไทย และต่อจากนั้นอาจจะจัดงานสารทขนม 12 เดือน ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมและประเพณี
และสุดท้ายผลลัพธ์โดยรวมที่จะเกิดขึ้นคือความยั่งยืนของขนมไทยนั่นเองที่มา: manager.co.th
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://www.tinyzone.tv/TravelAdm.aspx