เรื่องน่ารู้! ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ของจังหวัดเชียงใหม่

ถ้าพูดถึงประเพณีปี๋ใหม่เมืองที่จังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะเคยได้ยิน และคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงของเทศกาลสงกรานต์ (13-15 เมษายน ของทุกปี) นอกจากการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การสรงน้ำพระใน เทศกาลสงกรานต์ กันแล้ว บางคนอาจยังคงไม่ทราบถึงความสำคัญของประเพณีนี้ รวมถึงเราจะมาบอกถึงกิจกรรมที่จะมีขึ้นในแต่ละวันด้วย

 

ประเพณีปี๋ใหม่เมือง เป็นประเพณีที่มีความหมายและความสำคัญต่อคนล้านนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเริ่มต้นให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต ความงอกงาม ความสุข โดยมีความหมายต่างๆ ดังนี้

songkran001

1. เป็นการเปลี่ยนปี เปลี่ยนศักราช ตามระบบปฏิทินและโหราศาสตร์ เมื่อถึงวันสังขานล่องจุลศักราชจะเลื่อนขึ้นอีกหนึ่งปี ในหนังสือปีใหม่เมืองหรือปักกะทืนล้านนาใช้ศักราช 2 ระบบ คือจุลศักราชและพุทธศักราช ซึ่ง จุลศักราชนั้นได้รับอิทธิพลมาจากพม่า ซึ่งน้อยกว่าพุทธศักราชจำนวน 1181 ปี สังฆราชบุพโสรหันต์ ชาวพม่าเป็นผู้ตั้งขึ้น ชาวล้านนารับเอาระบบปฏิทินที่พม่า ตั้งจุลศักราชขึ้นมาใช้ก่อนพุทธ ศักราชจะเข้ามามีอิทธิพลในภายหลัง อาจเป็นเพราะอดีตล้านนาเคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศพม่า และรับตำราการคำนวณปฏิทินมาจากพม่าจึงใช้ระบบจุลศักราชเป็นหลักในการคำนวณ

2. เป็นการเตือนตน สำรวจตรวจสอบตนเอง เริ่มเข้าสู่ปีใหม่ จะเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านชีวิต การเปลี่ยนปีทำให้อายถุเพิ่มขึ้น เป็นการย้ำเตือนของวันและวัยที่เพิ่มขึ้น และสำรวจตรวจสอบตนเองทบทวนอดีตที่ผ่านมาว่าได้ทำ อะไรไปบ้าง ก่อเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด และวางแผนเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ยอมรับความจริง ความโรยราของสังขาร และการวางตัวให้เหมาะสมกับวัย

3. เป็นการชำระสะสางสิ่งหมักหมม การเข้าสู่ปีใหม่ ในวันสังขานต์ล่องตามจารีตประเพณี จะต้องทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอนหมอนมุ้ง อาบน้ำ ดำหัว นุ่งผ้าใหม่ เพื่อเริ่มต้นสู่ปีใหม่ ดังนั้นสิ่งสกปรกที่หมักหมมมา ตลอดทั้งปี จะต้องได้รับการชำระสะสาง ให้สะอาดหมดจด รวมถึงการชำระล้างจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจาก ความเศร้าโศก ความหม่นหมองที่เกิดขึ้นในใจ เพื่อเข้าสู่การเริ่มต้นที่ดีงาม

4. เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง เมื่อทบทวน สำรวจตรวจสอบตัวตน และชำระล้างจิตใจที่เศร้าหมองให้สะอาดแล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เบิกบานเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยสิ่งดีงามเป็นมงคล เช่น การนุ่งผ้าใหม่ การสระ เกล้าดำหัว การทำบุญ ทานขันข้าว ปักตุง สืบชะตา บูชาเทียนปีใหม่ ฯลฯ พิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต เสริมสร้างขวัญกำลังใจ และพลังในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

5. เป็นการรำลึกถึงบุญคุณ กิจกรรมในวันปี๋ใหม่เมือง เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้มีโอกาสพบเจอกับผู้มีพระคุณต่างๆ เพื่อไปขอขมาลาโทษที่ได้ล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ และขอพรปีใหม่จากผู้มีพระคุณ เช่น พ่อ แม่ ปู่ยา ตา ทวด ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อแสดงความกตัญญู รำลึกในบุญคุณและเยี่ยมเยือนไตร่ถามสารทุกข์สุขดิบ

550000004247301

เมื่อได้ทราบถึงความสำคัญและความเป็นมาของประเพณีกันไปแล้ว เรามาดูกันว่า ในแต่ละวันของการจัดประเพณีนี้ มีกิจกรรมอะไรให้เราได้ทำกันบ้าง

วันที่ 13 เมษายน : วันสังขานล่อง หรือ วันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันที่คนเชียงใหม่จะลอยทุกข์ ลอยโศก ลอยความไม่เป็นมงคลต่อชีวิตออกไป และชำระล้างกายใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง

วันที่ 14 เมษายน : วันเนา หรือ วันเน่า นอกจากจะต้องออกไปจ่ายตลาดเพื่อเตรียมของไปทำบุญที่วัด ตามโบราณที่คนเฒ่าคนแก่สั่งสอนลูกหลาน วันเนา หรือ วันเน่า คือวันที่คนเชียงใหม่ ต้องคิดดี ทำดี พูดจาดี ห้ามทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ด่าทอ ทะเลาะวิวาทเชื่อว่าการทำสิ่งดีในวันนี้จะเป็นมงคลแก่ชีวิตตลอดทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน : วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก เป็นวันทำบุญใหญ่ที่นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสเห็นภาพของคนเชียงใหม่ต่าง พร้อมใจกันนำอาหารหวานคาวไปทำบุญที่วัด เรียกว่าทานขันข้าว มาฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อเตือนสติให้ตั้งอยู่ในการคิดดีทำดี มาทำพิธีเรียกขวัญให้กลับมา ดูแลปกปักรักษาให้มีชีวิตร่มเย็นเป็นสุข บางส่วนจะขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นการทำบุญ ทำกุศล ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้างก็นำตุงหรือธงมาปักที่กองทราย ทั้งนี้ มีคติว่าการทานตุงนั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรก สามารถพ้นจากขุมนรกได้ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต บางท่านอาจจะเตรียมไม้ง่าม ไปถวายสำหรับค้ำต้นโพ ถือคติว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการจะช่วยกันค้ำจุนพระศาสนา ให้ยืนยาวต่อไป และจะมีการสรงน้ำทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์รวมทั้งสรงน้ำพระภิกษุ สงฆ์ด้วย

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :  travel.mthai.com , www.chiangmainews.co.th , www.tlcthai.com , pwa.co.th