การเดินทางพร้อมสัตว์เลี้ยง โดยการเดินทางอากาศ เป็นเรื่องที่เจ้าของสัตว์ ควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบางสายการบินมักจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเรื่องขนาด สายพันธุ์ และน้ำหนัก ดังนั้นก่อนการเดินทางควรทำการตรวจสอบกับทางสายการบินให้แน่นอนก่อน โดยทั่วไปสายการบินจะอนุญาตให้เจ้าของสัตว์นำสุนัข หรือแมว ที่มีขนาดเล็ก กว่า 15 ปอนด์ หรือประมาณ 6.8 กก.โดยใส่ในกระเป๋าเดินทางสำหรับสัตว์ วางไว้ใต้เก้าอี้ผู้โดยสารได้ โดยบางสายการบินอาจบังคับให้มีสัตว์เลี้ยงในห้องผู้โดยสารไม่เกิน 2 ตัว ถ้าน้ำหนักเกินกว่า หรือจำนวนสัตว์ที่เกินมานั้นจะส่งลงใต้ท้องเครื่องที่มีห้องปรับอุณหภูมิเฉพาะ และสุนัขที่มีขนาดใหญ่มากๆ น้ำหนักมากกว่า 35 กก.บางสายการบินจะให้ส่งผ่านระบบคลังสินค้า ดังนั้นควรทำการจองที่นั่งโดยระบุจำนวนสัตว์ด้วย
ระเบียบโดยทั่วไปของสายการบิน สัตว์เลี้ยงไม่ควรมีอายุต่ำกว่า 2 เดือน และหย่านมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 วัน ก่อนการเดินทาง (ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศปลายทาง) ของประเทศไทย สุนัข แมวควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 4 เดือน และผ่านการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และวัคซีนยังไม่หมดอายุ
การเลือกจองตั๋วสายการบิน ควรเลือกสายการบินประเภทบินตรง หลีกเลี่ยงสายการบินที่มีการเปลี่ยนเครื่อง ควรเลือกจองตั๋วในกลางสัปดาห์ที่มีผู้โดยสารน้อยๆ หลีกเลี่ยงการเดินทาง วันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือ วันหยุดยาว
ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนให้เลือกเวลาเดินทางเวลาเช้าตรู่ หรือตอนดึกไปเลย ถ้าสภาพอากาศที่หนาวมากๆ ให้เลือกเวลาเดินทางในเวลากลางวัน
โดยทั่วไปแล้วข้อบังคับการบิน มีข้อบังคับไว้ว่า กรณีที่สายการบินไม่สามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่กระทบตัวสัตว์ ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 45 ฟาเรนต์ไฮนต์ เป็นเวลามากกว่า 45 นาที ระหว่างการขนถ่ายจากตัวเครื่องไปยัง ตัวอาคารผู้โดยสารได้ ห้ามสายการบินนั้นๆ รับสัตว์เลี้ยงขึ้นเครื่อง ยกเว้นแต่จะมีใบรับรองจากสัตวแพทย์ระบุว่าสัตว์เลี้ยงตัวนั้นๆ สามารถทนต่อสภาพอุณหภูมิที่ต่ำ 45 ฟาเรนต์ไฮนต์(แต่ไม่เกิน 85 ฟาเรนต์ไฮนต์) เป็นเวลามากกว่า 45 นาที
สุนัขสายพันธุ์ที่ควรระวังในเรื่องการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อน คือ สุนัขพันธ์หน้าสั้น เช่น บูลด็อก ปั๊ก มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะ Heat stroke ได้ บางครั้งสัตว์อาจเสียชีวิตก่อนที่จะขึ้นเครื่องได้ เนื่องจากระหว่างการขนย้ายจากอาคารผู้โดยสาร ไปยังตัวเครื่อง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ และสัตว์จะไปรออยู่ในพื้นที่ลำเลียงกระเป๋า ซึ่งอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติควรกำชับเจ้าหน้าที่สายการบินให้ดี
เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินแล้ว ก่อนการเดินทางให้ทำการตรวจเช็คสัตว์เลี้ยง และนำออกมาเดินเล่นบ้าง จากนั้นค่อยนำสัตว์เลี้ยงเข้ากรงแล้วแจ้งสายการบินเพื่อนำขึ้นเครื่อง ควรเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่สายการบินให้ระบุว่ามีสัตว์เลี้ยงเดินทางมาด้วยใน เที่ยวบินนั้นๆ เพื่อให้นักบินได้ทำการเตรียมห้องสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยการให้มีออกซิเจน อุณหภูมิ และ ความดันภายในห้องเก็บสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ เมื่อสุนัขมาถึงปลายทางแล้วให้นำสัตว์เลี้ยงออกมายืดเส้นยืดสายบ้าง
กรงเพื่อการขนย้ายสัตว์เลี้ยงควรมีลักษณะตามระเบียบสายการบินดังนี้
1.ขนาดควรใหญ่กว่าตัวสัตว์ ในระดับที่สามารถยืนได้โดยที่ตัวสัตว์ไม่แตะกับส่วนบนของกรง หรือให้กรงสูงจากหลังสัตว์ขณะยืนประมาณ 1คืบ สามารถหมุนตัวได้และนอนได้
2.ควรมีความแข็งแรงสูง ไม่มีคมและควรมีที่จับ
3.ส่วนพื้นกล่องควรกันน้ำรั่วออกและปูรองด้วยวัสดุที่ดูดซับน้ำได้ดี โดยมากจะใช้กระดาษหนังสือพิมฉีกเป็นเส้นๆ หรืออาจจะใช้แผ่นรองซับสำเร็จรูป ก็ได้
4.มีการทำเครื่องหมายที่กรงชัดเจน ระบุชื่อเจ้าของสัตว์ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และควรมีคำว่า LIVE ANIMALS และมีลูกศรชี้ขึ้นให้กรงอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง เอกสารสำคัญอื่นๆ เช่น Health certificate รูปถ่าย ใบวัคซีน ตัวจริงควรเก็บไว้กับตัวเจ้าของ เก็บสำเนาทั้งหมดใส่ซองกันน้ำและแปะไว้ที่กรง
5.ในฝั่งตรงข้ามของทั้งสองกรงควรมีรูระบายอากาศและพยายามฝึกสุนัขให้คุ้น เคยกับกรงก่อนการเดินทาง เพื่อไม่ให้สัตว์ตื่นกลัวมากเกินไปควรเอาเสื้อผ้าที่มีกลิ่นเจ้าของใส่เข้า ไปในกรงด้วย เช่น ถุงเท้า เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว (แต่ยังไม่ซัก)
6.กรงต้องมีความแข็งแรงและแน่นหนา โดยเฉพาะส่วนประตูกล่องควรมีเชือกมัดทับไว้อีกชั้น เพื่อป้องกันกรงเปิดโดยไม่ตั้งใจ
ก่อนการเดินทางควรปรึกษาสัตวแพทย์เรื่องการให้อาหาร เพื่อความปลอดภัยควรให้สุนัขท้องว่าง แต่ก็ยังควรให้น้ำอยู่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดสัตว์ อายุ และระยะเวลาในการเดินทาง ในกรณีสัตว์บางตัวต้องการอาหารเป็นกรณีพิเศษ เช่นสัตว์ป่วยเป็นโรคไต ต้องกินอาหารแบบพิเศษ ควรเตรียมพร้อมไปด้วย ไม่แนะนำให้สัตว์เลี้ยงรับยาซึม หรือยาสลบอื่นในระหว่างการเดินทางด้วยเครื่องบิน
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://travel.mthai.com/